• suriyasiriraj2499@gmail.com
  • 418-422 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กทม. 10700

เมื่อเกิดการเสียชีวิตของคนใกล้ชิด ต้องทำอย่างไรบ้าง?  

การตายเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว และเวลาที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิต ญาติมักจะทำตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เนื่องจากอาจจะกำลังอยู่ในอารมณ์เศร้า วันนี้คอลัมน์ The Success การเรียนรู้สู่ความสำเร็จ ได้สรุปรายละเอียดขั้นตอนการการแจ้งตาย ขั้นตอนการจัดงานศพ และค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ สำหรับผู้ที่สนใจไว้ดังนี้

ขั้นตอนการแจ้งตาย  

โดยการแจ้งตาย แบ่งออกเป็น  3 กรณีหลัก  ได้แก่

1) กรณีเสียชีวิตในโรงพยาบาล หลังจากที่ผู้ป่วยเสียชีวิต แพทย์จะออกหนังสือรับรองการตาย (ใบ ท.ร.4/1) ให้แก่ญาติ เพื่อนำไปรวมกับเอกสารอื่น ๆ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งตาย, บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตาย (ถ้ามี) และสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อคนตาย (ถ้ามี) เพื่อนำไปยื่นให้กับนายทะเบียน ณ ที่ทำการอำเภอหรือท้องถิ่น ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากตาย เพื่อออกใบมรณบัตร โดยจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 200 บาท

2) กรณีตายนอกสถานพยาบาล แบ่งออกเป็น 2 กรณีย่อย คือ

  • 2.1) กรณีตายในบ้าน เช่น บ้านผู้ตาย บ้านญาติพี่น้อง หรือสถานประกอบการต่าง ๆ ผู้แจ้งตาย ซึ่งอาจเป็นเจ้าบ้านที่มีคนตาย ผู้พบศพ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้แจ้งการตาย จะต้องแจ้งการตายภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ตาย หรือพบศพ
  • 2.2) กรณีตายนอกบ้าน เช่น บนรถยนต์ ทุ่งนา ป่าเขา ผู้แจ้งตายหรือผู้พบศพ ต้องรีบแจ้งตายภายใน 24 ชั่วโมงหลังพบศพ แต่ถ้าหากพื้นที่ที่พบมีการเดินทางยากลำบาก หรือมีระยะทางยาวไกล ทางการจะยืดหยุ่นระยะเวลาให้สามารถแจ้งตายได้ภายใน 7 วัน หากเกินกว่านี้จะต้องถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท


สำหรับวิธีการแจ้งตายในของทั้งกรณีที่ 2 ดังกล่าว ผู้แจ้งตายต้องแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกใบรับรองแจ้งการตาย (ท.ร.4 ตอนหน้า) มาให้ หลังจากนั้น ต้องนำเอกสารดังกล่าว พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งตาย บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตาย (ถ้ามี) และสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อคนตาย (ถ้ามี) ไปยื่นแก่นายทะเบียน เพื่อให้นายทะเบียนออกใบมรณบัตรให้

3) กรณีตายผิดธรรมชาติ ไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้าน เช่น ฆ่าตัวตาย ถูกฆาตกรรม อุบัติเหตุ ถูกสัตว์ฆ่า ตายไม่ทราบสาเหตุ จะต้องมีหลักฐานการชันสูตรศพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนยื่นต่อนายทะเบียน

โดยหลังจากที่ผู้แจ้งตายยื่นหลักฐานต่อนายทะเบียนแล้ว นายทะเบียนจะทำการจำหน่ายชื่อผู้ตายออกจากทะเบียนบ้าน โดยจะประทับคำว่า “ตาย” เป็นสีแดงไว้หน้ารายการคนตายของทะเบียนบ้าน ก่อนที่จะออกใบมรณบัตร และคืนเอกสารทั้งหมดให้กับผู้แจ้งตาย ก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการแจ้งตายค่ะ

6 ขั้นตอนควรรู้ในการจัดงานศพแบบศาสนาพุทธ

1. ดำเนินการแจ้งตายและขอใบมรณบัตร ญาติ ผู้พบเห็นศพ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้แจ้งตาย จะต้องทำการแจ้งตายภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้นายทะเบียนออกใบมรณบัตรให้ และนำมาจัดงานศพ

2. ติดต่อวัด เพื่อเคลื่อนย้ายศพไปทำพิธีกรรมทางศาสนา โดยสามารถติดต่อกับวัด โรงพยาบาล หรือธุรกิจบริการจัดงานศพ เพื่อให้ดำเนินการหารถเคลื่อนย้ายศพให้ ในการเคลื่อนขบวนศพ ควรมีญาติของผู้เสียชีวิตถือกระถางธูป และรูปของผู้เสียชีวิตนำหน้า และควรนิมนต์พระสงฆ์ อย่างน้อย 1 รูป ถือสายสิญจน์ที่โยงออกมาหน้าโลงศพ เพื่อชักศพและนำทางดวงวิญญาณมายังที่วัด

3. ทำพิธีรดน้ำศพ และบรรจุร่างผู้เสียชีวิตในโลงศพ ส่วนมากจะนิยมตั้งเตียงไว้ด้านซ้ายของโต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย จัดวางผู้ล่วงลับนอนหงาย โดยนำผ้าขาวปิดลำตัวผู้ล่วงลับไว้ให้เหลือแต่หน้า และมือขวาเท่านั้น  เพื่อรับการรดน้ำศพจากญาติ และผู้ที่มาแสดงความไว้อาลัย หลังจากนั้นก็บรรจุร่างใส่โลงศพและทำพิธีในขั้นตอนต่อไป

4. พิธีสวดอภิธรรมศพ จุดมุ่งหมายของพิธีคือการที่ทำให้เจ้าภาพ ครอบครัว เครือญาติ และแขกผู้มีเกียรติ ได้ระลึกและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่เสียชีวิต โดยเจ้าภาพสามารถตกลงกับทางวัดได้ว่าต้องการที่สวดอภิธรรมศพกี่วัน ส่วนใหญ่มักจะนิยมสวดกัน 1 คืน 3 คืน 5 คืน และ 7 คืน เป็นต้น

5. พิธีฌาปนกิจ จะมีการเดินขบวนแห่ศพเวียนรอบเมรุ โดยเริ่มจากบันไดหน้าเมรุไปทางซ้ายทั้งหมด 3 รอบ เมื่อแห่ครบแล้วเจ้าหน้าที่จะนำโลงศพตั้งไว้หน้าเมรุ เพื่อให้กล่าวอำลาแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย เมื่ออำลาโดยการวางดอกไม้จันทน์ครบทุกคนถึงเข้าสู่พิธีการเผา

6. พิธีลอยอังคาร หลังจากจบพิธีฌาปนกิจศพ ญาติจะเก็บอัฐิจากร่างของผู้ล่วงลับ 6 ชิ้น ได้แก่ ศีรษะ แขนทั้งสองข้าง ขาทั้งสองข้าง ซี่โครงหน้าอก เอาไว้ และส่วนที่เหลือนิยมบรรจุใส่หีบไม้ นำผ้าขาวห่อเก็บไว้เพื่อนำไปลอยแม่น้ำต่อไป  

***หมายเหตุ : สำหรับพิธีการจัดงานศพตามประเพณีของจีนและคริสต์ จะมีขั้นตอนและพิธีกรรมที่ต่างจากประเพณีไทย***

ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ  

ต้องบอกก่อนว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพของแต่ละเคส จะมีค่าใช้จ่ายน้อยมากแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับจำนวนวัน และรายละเอียดในการจัดงาน โดยส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายพื้นฐานดังต่อไปนี้

1.การแจ้งการเสียชีวิต : มีค่าธรรมเนียมในการจัดทำใบมรณบัตรอยู่ที่ 200 บาท

2.การเคลื่อนย้ายศพ : ในส่วนนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายศพไปที่วัด ขึ้นอยู่กับระยะทางจากโรงพยาบาลหรือบ้าน ไปยังวัด โดยประมาณ 2,500 บาท

3.การอาบน้ำศพ : บางโรงพยาบาลจะมีบริการอาบน้ำและแต่งตัวให้ร่างผู้เสียชีวิต พร้อมกับฉีดฟอร์มาลีน เพื่อป้องกันการเน่าเสียของศพ หากต้องการฝากร่างผู้เสียชีวิตในห้องเก็บศพก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม  

  • ค่าบริการอาบน้ำและแต่งตัวศพ 300 – 500 บาท
  • ค่าฉีดฟอร์มาลีน 900 บาท
  • ค่าฝากร่างผู้เสียชีวิต 300 – 1,500 บาทต่อวัน

4.พิธีรดน้ำศพ และพิธีสวดอภิธรรมศพ : จะมีการสวดแบบ 1 คืน , 3 คืน , 5 คืน และ 7 คืน จะมีค่าใช้จ่ายต่อ 1 คืน ดังนี้

  • ค่าหีบศพ 3,000 – 200,000 บาท
  • ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 3,000 – 5,000 บาทต่อคืน (หากเจ้าภาพจัดทำเองอาจจะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้)
  • ค่าของถวายพระสงฆ์ เช่น ดอกไม้ เครื่องไทยธรรม และของที่จัดงานอื่น ๆ เพิ่มเติม 1,000 บาทต่อคืน
  • ค่าเช่าศาลา 500 บาท ขึ้นไป ต่อหนึ่งคืน (ขึ้นอยู่กับขนาด และสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ละวัดจะมีเกณฑ์ไม่เหมือนกัน)
  • ปัจจัยถวายพระ รูปละ 500 บาทขึ้นไป หรือแล้วแต่ศรัทธา

5.พิธีฌาปนกิจศพ  

  • ค่าเมรุ 2,500 – 3,000 บาท
  • ค่าดอกไม้จันทน์ 200 บาท
  • ค่าของชำร่วย 4,000 – 6,000 บาท
  • ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 3,000 – 5,000 บาท
  • ค่าพนักงานยกโลงศพ, ผ้าบังสุกุล, ผ้าไตรเต็ม 4,000 บาท
  • ค่าบำรุงเมรุ และค่าน้ำมันเผา 2,500 – 5,000 บาท

6.พิธีลอยอังคาร  

  • ค่าเรือ พร้อมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในพิธี หรือ ค่าเก็บอัฐิ ค่าโกศ ค่าผ้าขาว ค่าดอกไม้ 2,500 – 20,000 บาท

Powered by Froala Editor

Tags:

Recent Posts

Services All